องค์การอนามัยโลกแนะนำพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่ให้ ลูกติดมือถือ  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตั้งแต่ต้น

ลูกติดมือถือ เป็นผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ออกมาแนะนำแล้วว่า เด็กต่ำกว่า 2 ขวบควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอ พ่อแม่ยุคใหม่จึงต้องตระหนักถึงผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์กันสักนิด มาเช็กกันว่า 10 ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ มีอะไรบ้าง พร้อมคู่มือแนะนำจากองค์การอนามัยโลกว่าเด็กเล็กอยู่หน้าจอได้นานแค่ไหน

วิธีเลี้ยงลูกในยุคโซเชียลจะเห็นคุณพ่อคุณแม่บางท่านใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ตลอดจนคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูก ภาพของเด็กหรือทารกดูมือถือ เล่นโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นภาพที่คุ้นชินสายตา แต่รู้ไหมว่าการปล่อยให้ลูก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อยู่กับหน้าจอมากเกินไปจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี ใครมีลูกอยู่ในวัยนี้ป้องกันไว้ก็ยังไม่สาย ดังนั้นเรามาดูผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ในวัยก่อน 2 ขวบกันเลยดีกว่า

ลูกติดมือถือ เป็นผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ก่อน 2 ขวบ

หาก ลูกติดมือถือ ตั้งแต่วัยหัดเดินจะเกิดผลเสียดังนี้

1. ทักษะการพูดและการสื่อสารพัฒนาได้ช้า

โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเรียนรู้การพูดและภาษาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือบุคคลรอบข้าง ด้วยการสังเกตรูปปากและเสียงที่เปล่งออกมา การเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออยู่กับหน้าจอนานๆ จึงเป็นการลดโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารแบบตัวต่อตัวของเด็ก

2. ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย

เด็กในวัยนี้จำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อพัฒนาทักษะทางกาย ทั้งการเดิน วิ่ง ขยับมือ หยิบจับสิ่งของ การให้เด็กนั่งนิ่งๆ อยู่หน้าจอ อาจทำให้ไม่ได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร

3. ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

เมื่อเลี้ยงลูกด้วยโทรศัพท์ ลูกจะใจจดจ่ออยู่แต่กับโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต ส่งผลให้มีพฤติกรรมแยกตัว ขาดการพูดคุย ไม่ปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้าง

4. สมาธิสั้น

การให้ลูกดูสื่อต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือหน้าจอโทรทัศน์มากเกินไป ลูกจะเห็นภาพและเสียงผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เสียสมาธิได้ เพราะไม่สามารถจดจ่อกับการดูสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วง อีกทั้งเสียงแจ้งเตือนต่างๆ ก็รบกวนสมาธิของเด็กเช่นกัน

5. จอประสาทตาถูกทำลาย

เด็กในวัยนี้ ตาและระบบการมองเห็นยังอ่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลง จึงไม่ควรมองแสงที่สว่างมากเกินไป ซึ่งแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือสามารถทำลายจอประสาทตาของเด็ก จนนำไปสู่โรคทางสายตา หรือจอประสาทตาเสื่อมได้

6. รบกวนการนอนหลับ

การให้ลูกเล่นหรือดูหน้าจอโทรศัพท์ก่อนนอน แสงจากหน้าจอที่สว่างๆ จะส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมน “เมลาโทนิน” ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ เนื่องจากการปล่อยฮอร์โมนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่างเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นปัญหาต่อคุณภาพการนอนหลับ ทำให้เด็กนอนฝันร้าย หรือนอนไม่หลับ ซึ่งมีผลทำลายการทำงานของเซลล์ประสาท ส่งผลระยะยาวไปถึงตอนโตได้

7. ปวดเมื่อยคอ

ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เด็กก้มมองจอโทรศัพท์ มักจะก้มคอราว 60 องศา ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสม เพราะจะส่งให้เกิดอาการปวดคอได้หากก้มเป็นเวลานานๆ

8. ปวดหัว ปวดตา

การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน จะส่งให้ได้รับรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมามากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรังสีดังกล่าวอาจส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา นั่นคือปวดศีรษะ ปวดตา หรือบางรายก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่านั้น

9. พฤติกรรมก้าวร้าว

หากเด็กๆ เล่นโทรศัพท์มือถือจนติด หรือพ่อแม่ใช้โทรศัพท์เป็นสิ่งหลอกล่อให้เด็กทำตามคำสั่ง ผลเสียที่ตามมาก็คือเมื่อเด็กไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือในเวลาที่ต้องการ มักจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กที่ติดเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ

10.  จินตนาการหดหาย

จินตนาการในวัยเด็กเป็นของขวัญที่มหัศจรรย์ที่สุดอย่างหนึ่ง แต่การปล่อยให้เด็กเรียนรู้ผ่านรายการในโทรศัพท์หรือโทรทัศน์ ซึ่งมักจะบอกแนวความคิดว่าเด็กต้องทำอย่างไร คิดอย่างไร ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้เกิดการจำกัดจินตนาการของเด็กๆ ได้

ลูกติดมือถือ

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดคู่มือแนะนำใหม่ขึ้นสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครอง ในการควบคุมเวลาหน้าจอสำหรับเด็กเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า

เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ยังเดินไม่ได้
– ควรมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งรวมถึงการนอนคว่ำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
– ไม่ควรอยู่ในรถเข็น หรือผูกติดบนหลังใครนานกว่า 1 ชั่วโมงต่อครั้ง
– ควรนอนหลับให้ได้ 12-17 ชั่วโมงต่อวัน
– ไม่ควรอยู่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เลย

เด็กอายุ 1-2 ขวบ
– ควรมีกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมง
– ควรนอนหลับอย่างน้อย 11-14 ชั่วโมง
– ไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง

เด็กอายุ 3-4 ขวบ
– ควรทำกิจกรรมทางกายวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวปานกลางถึงแข็งแรงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
– ควรนอนหลับพักผ่อน 10-13 ชั่วโมง
– ไม่ควรใช้เวลาอยู่หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมง

เด็กเล็กสามารถคุย Video Chat กับเราได้ไหม

นอกจากนี้ สถาบันกุมารศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (The American Academy of Pediatrics) ก็ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อหน้าจอในเด็กเช่นเดียวกัน ยกเว้นการคุยกันผ่านวิดีโอ (Video chat) สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 ขวบครึ่ง – 2 ขวบ สามารถทำได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับคนในครอบครัว ส่วนเด็กอายุระหว่าง 2-5 ขวบนั้น ควรรับชมรายการที่มีคุณภาพเป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน

ทั้งนี้ ในการให้ลูกใช้เวลาอยู่หน้าจอ คุณพ่อและคุณแม่ควรจะสกรีนเนื้อหาของรายการที่ลูกดูก่อนทุกครั้ง และควรดูไปพร้อมกับลูกๆ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจ มอบความรักความอบอุ่นแก่ลูก แต่ทางที่ดี Dr.Juana Willumsen ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก แนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ปกครองควรนำการเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ กลับมา ไม่ว่าจะเป็นการได้เคลื่อนไหวร่างกาย การวิ่งเล่น การร้องเพลง การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง การต่อจิ๊กซอว์ เพื่อที่จะเปลี่ยนจากเวลาที่เด็กอยู่กับที่ไปเป็นเวลาเล่น ซึ่งจะช่วยทำให้พวกเขานอนหลับพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ได้ออกกำลังกายและเสี่ยงต่อโรคอ้วนน้อยลงด้วยนั่นเอง

(ข้อมูลจาก : องค์การอนามัยโลก, evoke.ie, healthychildren.org, awomanlessordinary.com)

อาการแบบนี้บ่งบอก ลูกติดมือถือ หนัก

  • ไม่สนใจหรือเลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบ
  • ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ
  • ควบคุมเวลาเล่นมือถือของตนเองไม่ได้
  • หงุดหงิด โมโหรุนแรง

ปล่อยลูกติดมือถือ เสี่ยง “พฤติกรรมโมโหร้าย สมาธิสั้น”

หากคุณพ่อคุณแม่ ปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรม “ติดมือถือ” นอกจากจะสร้างพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านต่างๆ

  • สุขภาพร่างกายผิดปกติ ร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดต้นคอ ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนหลับไม่ดี นอนไม่ยาว เสี่ยงสายตาสั้น ตาอักเสบ
  • สมองเล็กลงขาดการพัฒนา ทำให้พัฒนาการเชาวน์ปัญญาไม่ดี ไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น กระบวนการฝึกคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหาที่เชื่องช้า
  • พัฒนาการช้า ในด้านภาษา การพูด เขียน อ่าน ไม่ได้หรือได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
  • เข้าสังคมยาก ขาดการเล่นอิสระ เพราะได้สูญเสียเวลาไปกับการเล่นมือเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากในความสัมพันธ์ระดับครอบครัว และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • อารมณ์รุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว ในกรณีเด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี มักพบปัญหาลักษณะการโวยวายที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ติดมือถือ และจะมีอาการแสดงชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น โดยเริ่มจากการพูดจาที่ก้าวร้าว การแสดงออกที่รุนแรง และมีสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ หงุดหงิดง่าย หุนหันพลันแล่น ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และวิตกกังวลได้ง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่น

เมื่อลูกติดมือถือ แท็บเล็ต แก้ไขอย่างไรดี?

หากเด็กเกิดพฤติกรรมติดมือถือ จะส่งผลทั้งในด้านพฤติกรรม ความเครียด ทั้งต่อตัวเด็กและคุณพ่อคุณแม่ด้วย ซึ่งทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวไปด้วยคุณพ่อคุณแม่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี? อันดับแรกคือการเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ให้กับลูก และปรับพฤติกรรมให้ลูกมีการใช้มือถืออย่างเหมาะสม

  • กำหนดเวลาเล่นมือถือให้ชัดเจน จำกัดเวลาในการใช้งานให้เหมาะสมตามวัย
  • สร้างกิจกรรมทดแทน พ่อแม่เล่นกับลูกเยอะๆ ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ
  • สานความสัมพันธ์ ไม่ใช่ตามใจ ให้โอกาสเด็กๆ ได้เล่นอิสระ กับเพื่อนๆ ตามความเหมาะสม
  • เลือกประเภทเกมที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอตามลำพัง ควรให้คำแนะนำเนื้อหาที่ดูกับเด็กไปด้วย
  • พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เลิกนิสัยติดหน้าจอตลอดเวลา
  • ไม่เก็บมือถือไว้ในห้องนอน ไม่ควรซื้อมือถือ แท็บเล็ตให้เด็กๆ ใช้ส่วนตัว

พ่อแม่เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยปรับพฤติกรรมลูก การที่เข้าใจเข้าใจว่า การเล่นมือถือเป็นเรื่องปกติตามวัยของเด็ก แต่ถ้าหากการเล่นเหล่านั้นขาดการควบคุมที่ดี ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหากับเด็กในระยะยาวได้ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา เช่น ความเครียดจากการเรียน ปัญหาในโรงเรียน การคบเพื่อน ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาด้านพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขั้นตอนการบำบัดรักษา พฤติกรรมติดมือถือ แพทย์จะทำการประเมินพฤติกรรมเด็กจากการพูดคุยกับผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง ร่วมกับการประเมินความพร้อมและความอดทนของพ่อแม่ ก่อนที่จะให้คำแนะนำในการบำบัดรักษาต่อไป

 

ที่มา

https://baby.kapook.com/

https://www.sikarin.com/health/

https://www.istockphoto.com/th/1358386062-432023707

https://www.istockphoto.com/th/1171532724-324601184

 

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กได้ที่  hudsonaudioimports.com